การจัดการสิ่งแวดล้อม
ลูกค้า
พันธมิตรทางธุรกิจ
การกำกับดูแลกิจการ
ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ชุมชน และสังคม
สื่อมวลชน และสื่อออนไลน์อื่น ๆ
ความสำคัญ
การดำเนินงานของท่าอากาศยานอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรน้ำ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างขยะและน้ำเสีย และผลกระทบทางเสียง ดังนั้นการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงเป็นประเด็นพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มชุมชนและสังคม ด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด และส่งเสริมพันธมิตรทางธุรกิจให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่หันมานิยมบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยการลดผลกระทบต่อโลกและเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิตและสิทธิด้านสุขภาพของชุมชนโดยรอบผ่านการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
นโยบาย
นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมในท่าอากาศยาน
ทอท. จัดทํานโยบายสิ่งแวดล้อมหลักเพื่อให้สํานักงานใหญ่และท่าอากาศยานในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดําเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นไปตามข้อกําหนดของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
แนวทางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อท่าอากาศยาน
ปัจจุบัน ทอท. ดําเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 6 ด้าน คือ การจัดการด้านเสียง การจัดการด้านคุณภาพอากาศ การจัดการน้ำและน้ำเสีย การจัดการของเสีย พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ทอท. ได้นําหลักการวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงอย่างสมดุล (Noise Balanced Approaches) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) มาปรับใช้ในการดําเนินงานท่าอากาศยาน โดยหลักการของ Balanced Approaches มีดังนี้
1.
การลดเสียงที่ยากาศยาน
(Reduction of noise at source)
สนับสนุนรณรงค์ให้สายการบินใช้อากาศยาน ที่มีการออกแบบ หรือเลือกใช้เครื่องยนต์ที่ปลดปล่อยเสียงในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบัน และกําหนดน้ำหนักบรรทุกของอากาศยานให้เหมาะสม
2.
การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน
(Land-use Planning and Management)
สนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนพัฒนาท่าอากาศยาน พื้นที่ผลกระทบด้านเสียงให้หน่วยงานด้านการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนำไปพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม
3.
วิธีปฏิบัติการบินที่ลดเสียง
(Noise abatement operational procedures)
กำหนดให้สายการบินที่ใช้ท่าอากาศยานปฏิบัติตามวิธีการบินและการขึ้น-ลง ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงต่ำที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อปัจจัยด้านความปลอดภัย (Safety) รวมทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสามารถรองรับเที่ยวบิน (Capacity) การกำหนดสัดส่วนการใช้ทางวิ่ง (Preferential runway use) ประสิทธิภาพของการบริหารการจราจร (Efficiency) และการเข้าถึงของท่าอากาศยาน (Accessibility)
4.
ข้อจำกัดในการปฏิบัติการ
(Operating restrictions)
จำกัดอากาศยานเสียงดัง โดยกำหนดให้อากาศยานที่ทำการบินในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยายดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ต้องมีระดับเสียงไม่เกินที่กำหนดไว้ใน Chapter 3 ของ Annex 16 ของอนุสัญญาว่าด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (อนุสัญญาชิคาโก) ซึ่งประกาศใน Aeronautical Information Circular: AIC เพื่อให้สายการบินต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติ
นอกจากนี้เพื่อเป็นการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบด้านเสียงจากอากาศยาน ทอท. ได้มีการตรวจวัดระดับเสียงอากาศยาน ทั้งที่เป็นสถานีถาวร และสถานีชั่วคราว ดังนี้
สถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร จำนวน 19 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี โดยเตรียมติดตั้งเพิ่มอีก 6 สถานีถาวร ในช่วงก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และมีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 5 สถานีถาวร ในช่วงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4
- ท่าอากาศยานภูเก็ต มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวรจำนวน 4 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร จำนวน 4 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี
สถานีตรวจวัดระดับเสียงชั่วคราว
- ท่าอากาศยานดอนเมือง
- ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
ดำเนินการตรวจวัดระดับเสียงปีละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่อง
ทอท. มีมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบด้านคุณภาพอากาศมาโดยตลอด ครอบคลุมแหล่งกําเนิดมลพิษจากภาคพื้นและอากาศยาน และมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบ PM2.5 โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศของ ทอท. ที่สําคัญได้แก่
- กําหนดให้อากาศยานดับเครื่องยนต์และควบคุมการใช้ APU ขณะเข้าหลุมจอดหรือเทียบกับ Passenger Loading Bridge โดยกําหนดและให้ใช้อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า และระบบปรับอากาศที่สนับสนุนโดยผ่านระบบสาธารณูปโภคของท่าอากาศยาน
- จัดระเบียบการจราจรภายในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะบริเวณอาคารผู้โดยสารและลานจอดรถยนต์ไม่ให้เกิดการติดขัด เพื่อลดการระบายมลสารทางอากาศ
- กำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพยานพาหนะและอุปกรณ์ Ground Support Equipment: GSE ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ให้มีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
- ส่งเสริมให้มีการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- รณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้พลังงานและมลพิษจากรถยนต์
- สำหรับท่าอากาศยานที่พื้นที่โดยรอบมีปัญหาการเผาป่าและวัสดุทางการเกษตร ให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อลดการเผาป่า
ทอท. ได้มีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (Air Quality Monitoring) เพื่อติดตาม ตรวจสอบและ เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในและภายนอกท่าอากาศยาน ดังนี้
- สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีชั่วคราว) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดําเนินการ ตรวจวัดปีละ 2 ครั้งต่อเนื่อง 7 วันดัชนีที่ตรวจวัด ได้แก่
- Nitrogen oxide (NOx)
- Carbon monoxide (CO)
- Total Hydrocarbons (THC)
- Total suspended particles (TSP)
- Particulate matter 10 micrometers (PM10)
- Volatile organic compounds (VOCs)
- ทิศทางและความเร็วลม
ซึ่งผลการตรวจวัดพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตามที่กฎหมายกําหนด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังระดับมลสารทางอากาศที่อาจจะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เตรียมติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีถาวร) จำนวน 2 สถานี ในช่วงก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3
- ท่าอากาศยานดอนเมือง เตรียมติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีถาวร) จำนวน 2 สถานี ในช่วงก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3
ทอท. บริหารจัดการน้ำและน้ำเสียเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการการอุปโภคบริโภคในการดำเนินงาน รวมถึงป้องกันและควบคุมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยรอบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ ทอท. ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำผิวดิน อุทกวิทยา และการระบายน้ำออกสู่ชุมชน ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดําเนินงานท่าอากาศยานตามหลักวิชาการ ตลอดจนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ปัจจุบันแหล่งน้ำหลักที่ ทอท. ใช้ภายในท่าอากาศยานมาจากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และจากระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำของท่าอากาศยานซึ่งอาศัยแหล่งน้ำดิบจากน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน โดยแต่ละท่าอากาศยานมีกระบวนการควบคุมคุณภาพน้ำที่ผลิตเองให้ได้มาตรฐานน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กําหนดและมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายในอาคารผู้โดยสารให้ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นประจําทุกเดือน
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. มีระบบบําบัดน้ำเสียส่วนกลาง ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำเสียทุกวันได้อย่างเพียงพอ มีการควบคุมและตรวจสอบการทํางานของระบบบําบัดน้ำเสียให้ทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูเก็ต น้ำทิ้งที่ผ่านระบบบําบัดน้ำเสียส่วนกลางแล้วจะมีการบําบัดน้ำเพิ่มเติมเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของ ทอท. มีการจัดการน้ำโดยบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับสากล ISO 14001:2015 ด้านการบริหารจัดการระบบจ่ายน้ำประปา ระบบระบายน้ำท่าอากาศยาน ระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบการบําบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ ทอท. อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลกรณีฐานเพื่อตั้งเป้าหมายการใช้น้ำ โดยเป้าหมายดังกล่าวคํานึงถึงสถานการณ์การใช้น้ำ ในปัจจุบันของ ทอท. ควบคู่ไปกับบริบทด้านการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ของท่าอากาศยาน รวมถึงมาตรการการจัดการน้ำในท้องถิ่นของภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วย
ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติ ทั้งในแง่การขาดแคลนพื้นที่ในการกําจัด การเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบ และการปนเปื้อนของขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสู่ระบบนิเวศ ทอท. มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ดําเนินการบริหารจัดการมาโดยตลอด
การกำจัดของเสีย
เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นสถานที่ที่ผู้โดยสารจํานวนมาก มีกิจกรรมการอุปโภคบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะ และเป็นที่รองรับขยะที่มากับอากาศยาน ทอท. จึงจัดให้มีระบบบริหารจัดการขยะโดยเริ่มต้นตั้งแต่การรณรงค์ให้ผู้โดยสารและพนักงานลดอัตราการเกิดขยะ และให้มีการคัดแยกขยะโดยภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารสํานักงานจะมีภาชนะตามประเภทของขยะมูลฝอย เช่น ขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล สําหรับขยะอันตราย และขยะติดเชื้อจะแยกจัดเก็บไว้โดยเฉพาะไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น จากนั้นจะรวบรวมไปกําจัดให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสุขาภิบาลต่อไป ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมจุดพักขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลตามประเภทของขยะมูลฝอย เช่น ขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นหรือเอกชนรับขนถ่ายขยะมูลฝอยไปกําจัด พร้อมดูแลความสะอาดของพื้นที่และเส้นทางที่รถขนขยะผ่านให้เรียบร้อยภายหลังการจัดเก็บในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การดําเนินงานของท่าอากาศยานยังมีขยะอันตรายจากการซ่อมบํารุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมัน สารทําละลาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากคลินิกแพทย์ภายในท่าอากาศยาน ซึ่งขยะประเภทดังกล่าวจะถูกนําไปกําจัดโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน
ในปี 2564 ทอท. ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ทอท. เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญต่อการจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อลดการกำเนิดขยะตั้งแต่ต้นทาง นโยบายดังกล่าวยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน ทอท. จากระบบแอนะล็อกที่พึ่งพาทรัพยากรจำนวนมากโดยเปลี่ยนการใช้กระดาษมาเป็นระบบดิจิทัลที่ช่วยลดการเกิดของเสียได้มากขึ้น เช่น ระบบ e-Document และยังสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน เช่น Virtualization Server และ Cloud Computing นอกจากนี้ ทอท. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการปฏิบัติงานการบริการจัดการการคัดเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green ICT Management Guideline) ให้แก่พนักงาน เพื่อการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
- วัฏจักรของอุปกรณ์ (Equipment Lifecycle)
- การใช้ ICT ของผู้ใช้งาน (End User Computing)
- ระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในองค์กร (Enterprise Computing)
- การนำ ICT มาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ICT as a Low – Carbon Enabler)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นหนึ่งใน Standard Business Practice ที่องค์กรชั้นนําทั่วโลกให้ความสําคัญในการดําเนินธุรกิจ เพราะเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจ และสามารถตัดสินใจในการลงทุนกับองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลในเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อาจส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการดําเนินธุรกิจได้ ท่าอากาศยาน ในความรับผิดชอบของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ได้เข้าร่วม Airport Carbon Accreditation: ACA ของ Airports Council International: ACI เพื่อแสดงเจตจํานง ของ ทอท. ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยทําการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ที่ปล่อยจากแหล่งกําเนิดในขอบเขตของการปฏิบัติการท่าอากาศยานของ ทอท. ตาม Airport Carbon Accreditation Guidance Document และนําไปสู่แนวทางการบริหารจัดการและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ
โปรแกรม ACA มีระดับการรับรอง 6 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 Mapping ระดับที่ 2 Reduction ระดับที่ 3 Optimisation ระดับที่ 3+ Neutrality ระดับที่ 4 Transformation และ ระดับที่ 4+Transition ในการเข้ารับการรับรองในระดับที่สูงขึ้น ท่าอากาศยานจะต้องเพิ่มระดับของการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ได้รับการรับรองในระดับที่ 3 Optimization สําหรับท่าอากาศยานภูเก็ตได้รับการรับรองในระดับที่ 1 Mapping
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ทอท. และบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ได้ร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขนาด 4.4 เมกกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังให้ร่มเงาที่ช่วยลดความร้อนภายในอาคาร ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำเย็นของระบบปรับอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทอท. ยังได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 286.28 เมกกะวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็น 0.07% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดย ทอท. มีแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตในอนาคตอีกด้วย
ด้วยความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างการดําเนินงานท่าอากาศยานและการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่ออํานวยความสะดวกในการเดินทาง ป้องกันการเกิดความล่าช้าโดยไม่จําเป็นของอากาศยาน ลูกเรือผู้โดยสารและสินค้า ทอท. ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการรักษา เฝ้าระวัง และจัดการให้สิ่งแวดล้อมมีความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน
การติดตามตรวจสอบด้านสุขาภิบาล
ดําเนินการควบคุม ป้องกัน และกําจัดสัตว์และแมลงรบกวนด้วยวิธี Integrated Pest Management: IPM บูรณาการเทศนิคการจัดการทางกายภาพและชีวภาพ มาใช้ในการควบคุม ป้องกัน กําจัดสัตว์ และแมลงพาหะนำโรคและสัตว์รบกวน ก่อนจะใช้สารเคมีเป็นมาตรการสุดท้าย เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ ได้ดําเนินการตรวจสุขาภิบาลอาคารสถานที่และสุขาภิบาล น้ำดื่ม น้ำใช้ ตลอดจนสุขาภิบาลอาหารของร้านอาหาร ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมี
การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- การตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร ได้แก่ อาคารสํานักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Operations Building: AOB) อาคารระบบบริหารข้อมูลท่าอากาศยาน (Airport Information Management System Building: AIMS) อาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal) และบริเวณจุดคัดแยกสัมภาระ (Sorting Area) โดยดัชนีคุณภาพอากาศที่ตรวจวัด ได้แก่ CO, CO2 VOCs, อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราในอากาศ นอกจากนี้ยังดําเนินการตรวจวัดฝุ่นละออง ในพื้นที่ต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาทิ บริเวณหอควบคุมจราจรภาคพื้น สถานีดับเพลิงและบริเวณระบบ สายพานลําเลียงกระเป๋าและสัมภาระ โดยมีดัชนีตรวจวัด PM10 และ PM2.5
- การตรวจวิเคราะห์ คุณภาพน้ำทิ้งจากผู้ประกอบการ และคุณภาพน้ำผิวดินภายในคลองโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อมิให้น้ำทิ้งจากผู้ประกอบการเกิดผลกระทบกับชุมชนโดยรอบ ทอท.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ช่องทางรับข้อร้องเรียนและให้ข้อเสนอแนะ
ทอท. จัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมประเด็นด้านเสียงและผลกระทบด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน และจัดตั้งศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีภารกิจหลัก 2 ส่วน ดังนี้
งานมวลชนสัมพันธ์
ลงพื้นที่เพื่อพบปะชี้แจงทําความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการดําเนินงาน และการแก้ไขปัญหาผลกระทบของ ทอท. ตลอดจนติดตามสถานการณ์ภายในชุมชนและพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยาน เพื่อรายงานประเด็นความคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนของประชาชนแก่ ทอท.
รับข้อร้องเรียนทางโทรศัพท์
(Call Center)
รับเรื่องร้องทุกข์และตอบข้อซักถามด้านขั้นตอนการในการดําเนินงานชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แผนงานขั้นตอนและผลการดําเนินงานการแก้ไขปัญหาและให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีมีการสอบถามข้อมูลเชิงลึกของ ทอท. ศูนย์ประสานงานฯ จะเป็นผู้ประสานงานด้านข้อมูลเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับผู้สอบถาม
ช่องทางติดต่อ
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โทร 02-132-9088 และ 02-133-1888
โทรสาร 02-133- 1889
เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ท่าอากาศยานทุกแห่ง
สําหรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะของทุกท่าอากาศยานสามารถติดต่อได้ที่ AOT Contact Center 1722
หรือ www.airportthai.co.th ในส่วน “ติดต่อและรับเรื่องร้องเรียน”
ทบทวน ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2566