สิทธิมนุษยชน

ความสำคัญ

การดำเนินธุรกิจของ ทอท. ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอาจมีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตั้งแต่พันธมิตรทางธุรกิจซึ่งครอบคลุมคู่ค้าและผู้รับเหมา พนักงานและลูกจ้างของ ทอท. ชุมชนและสังคม รวมถึงลูกค้า โดยอาจละเมิดความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพ สภาพการจ้างงาน การเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด เสรีภาพในการรวมกลุ่ม ความเป็นส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งเป็นที่จับตามองของหน่วยงานกำกับดูแล สื่อมวลชน และนักลงทุน ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงเป็นเรื่องที่ ทอท. ให้ความสำคัญเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การป้องกันและหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

นโยบาย

ทอท. ดําเนินธุรกิจตามนโยบายสิทธิมนุษยชนที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP) ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อนุสัญญาหลักด้านสิทธิแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หลักการว่าด้วยการปกป้องสิทธิ การเคารพสิทธิ และการเยียวยาผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น หรือ Ruggie's Framework แนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า และจรรยาบรรณ ทอท. ซึ่งบังคับใช้ทั่วทั้งองค์กร นโยบายสิทธิมนุษยชนของ ทอท. ครอบคลุมสิทธิของพนักงาน คู่ค้าธุรกิจ ลูกค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดมุ่งเน้นการเคารพกฎหมายและข้อกําหนดที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรับฟังและช่องทางรับข้อร้องเรียนพร้อมระบบบริหารจัดการข้อร้องเรียน และมีมาตรการเยียวยาในกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิทธิของพนักงาน

มีสภาพการจ้างงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงป้องกันการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อเจรจาต่อรอง

สิทธิของชุมชน
และสิ่งแวดล้อม

มีมาตรฐานการครองชีพ สุขภาพความปลอดภัยของชุมชน โดยการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนให้น้อยที่สุด

สิทธิของคู่ค้าธุรกิจ

สภาพการจ้างงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน รวมถึงการป้องกันการใช้แรงานที่ผิดกฎหมาย และมีการตรวจติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดการดำเนินงาน

สิทธิของพนักงาน

คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและป้องกันการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ รวมถึงการรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

แนวทางการจัดการ

ทอท. ยืนยัดที่จะเคารพและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกผู้มีส่วนได้เสียของ ทอท. (กลุ่มลูกค้า กลุ่มชุมชนและสังคม กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงคู่ค้าและพันธมิตร และกลุ่มบุคลากรของ ทอท.) โดยประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ ทอท. ให้ความสำคัญครอบคลุมเรื่องการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) การใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) และการใช้แรงงานเด็ก (Child Labor) การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) สิทธิในการการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง (Collective Bargaining) และการให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม (Equal Remuneration) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ที่ ทอท. ให้ความสำคัญและบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความปลอดภัยในที่ทำงาน (Safe and Healthy Working Environment) สภาพการจ้างงานที่ดี (Decent Work Conditions) และคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Quality of Life) เป็นต้น

การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)

ทอท. มีการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อประเมินประเด็นความเสี่ยงและกําหนดมาตรการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นสาระสําคัญขององค์กร พร้อมกําหนดช่องทางรับข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ตรวจสอบสิทธิมนุษยชน

การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของ ทอท.

การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของ ทอท. ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนหลักดังนี้

ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของ ทอท.

ขอบเขตการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

ทอท. ดําเนินการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนครอบคลุมทั้งสถานที่ปฏิบัติงานภายใต้ความควบคุมของ ทอท. (6 ท่าอากาศยาน และสํานักงานใหญ่) ห่วงโซ่คุณค่าของ ทอท. และคู่ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ อาทิ บริษัทลูก บริษัทร่วมทุน การควบรวมหรือซื้อกิจการ ซึ่งมีการระบุประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนครอบคลุมประเด็น

  • การใช้แรงงานบังคับ 
  • การใช้แรงงานเด็ก 
  • เสรีภาพในการสมาคม 
  • การรวมตัวและเจรจาต่อรอง 
  • การให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม 
  • การเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด 
  • การค้ามนุษย์ 
  • และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

และจำแนกผู้มีส่วนได้เสีย (หรือผู้ทรงสิทธิ) ที่อาจได้รับผลกระทบออกเป็น  

  • พนักงานและลูกจ้าง
  • คู่ค้าและผู้รับเหมา 
  • ลูกค้าและผู้โดยสาร
  • ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โดยรวมกลุ่มเปราะบางที่เกี่ยวข้อง เช่น สตรี เด็ก ชนพื้นเมือง แรงงานต่างด้าว แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม กลุ่มเพศทางเลือก (LGBQI+) ผู้พิการ สตรีหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น 

ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่พบว่ามีความเสี่ยงสูง

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ประเด็นความเสี่ยง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มาตราการการจัดการ
ลูกค้าและผู้โดยสาร สุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้าและผู้โดยสาร
  • อุบัติเหตุทั้งในและนอกเขตการบิน
  • การประพฤติโดยมิชอบด้วยกฎหมายทุกประเภทในท่าอากาศยาน
  • การแพร่กระจ่ายของโรคติดต่อ
ทอท. ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน ระดับประเทศและระดับสากล ที่กําหนดโดย ICAO รวมถึงข้อกําหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ทอท. อย่างเคร่งครัด พร้อมดําเนินมาตรการคัดกรองและป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัส COVID-19 ในท่าอากาศยาน
คู่ค้าและผู้รับเหมา สภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมของคู่ค้าและผู้รับเหมา สภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมของคู่ค้าและผู้รับเหมา การระบุเงื่อนไขในการปฏิบัติ ตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดลงในข้อกําหนดรายละเอียด การจัดหา (Term of Reference) พร้อมมีการตรวจสอบความสอดคล้องอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการ ตรวจรับงาน นอกจากนี้ ทอท. ยังเผยแพร่และส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้าของ ทอท.
พนักงานและลูกจ้าง สภาพการจ้างงานที่เป็นธรรมของพนักงานและลูกจ้าง การมีชั่วโมงการทํางานที่ยาวนานเกินกว่าทำกฎหมายกําหนดการจ่ายค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือไม่เป็นธรรม ทอท. ปฏิบัติตามกกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด และกำหนดจรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อพนักงานที่ ทอท. ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมมีกระบวนการรับฟังความเห็นของพนักงานโดยมีการบริหารจัดการข้อร้องเรียน / ข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีการเยียวยาในกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพนักงาน นอกจากนี้ยังได้อนุมัติมาตรการทำงานจากที่บ้านและมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ชุมชนและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการครองชีพสุขภาพ และความปลอดภัยของชุมชนโดยรอบท่าอากาศยาน/td> ผลกระทบด้านเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการขึ้นลงของอากาศยานต่อชุมชน รวมถึงมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง และ PM2.5 จากโครงการก่อสร้างซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของชุมชน ทอท. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมทุกฉบับ รวมถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมในท่าอากาศยานและดำเนินโครงการตรวจสุขภาพหูและสมรรถภาพการได้ยินในชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานเป็นประจำทุกปี

การจําแนกผู้มีส่วนได้เสียที่อาจได้รับผลกระทบแต่ละประเด็น

ประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ช่องทางการรับข้อร้องเรียน

ทอท. กําหนดช่องทางรับข้อร้องเรียนและข้อคิดเห็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ โดยมีกระบวนการจัดการข้อร้องเรียนและข้อคิดเห็นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกประเด็นที่ ทอท. ได้รับจะนําไปสู่การตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขการดําเนินงานให้ดีขึ้น นําไปสู่การหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในวงกว้างต่อไป

ช่องทางรับข้อร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตู้รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ติดตั้ง ณ สํานักงานใหญ่และบริเวณสํานักงานท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง

เว็บไซต์ www.airportthai.oo.th ในส่วน “ติดต่อและรับเรื่องร้องเรียน” หรือช่องทาง chat

จดหมายจ่าหน้าซองถึง
คณะกรรมการ ทอท. กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ หรือผู้อํานวยการสํานักตรวจสอบ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) ที่ ตู้ปณ.3 ปณฝ.ดอนเมือง กทม. 10211

AOT Contact Center 1722

ฝ่ายสื่อสารองค์กร

E-mail: aotpr@airportthai.co.th

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การประเมินผลการจัดการ

ทอท. ประเมินผลการจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการตรวจสอบภายในและการติดตามความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนติดตามข้อร้องเรียนเพื่อรายงานผลต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลและผู้บริหารระดับสูงเป็นประจํา นอกจากนี้ ทอท. ยังกําหนดให้ทบทวนนโยบายและกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจํา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

ทบทวนล่าสุด ณ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2567