การกำกับดูแลกิจการของ ทอท.

ทอท. มุ่งบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและยกระดับการกำกับดูแลกิจการให้สอดคล้อง
ตามแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
อันจะส่งผลให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในระยะยาวบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี

icon ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
01 Customer

ลูกค้า

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Business Alliance

พันธมิตรทางธุรกิจ

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Regulatory agencies

หน่วยงานกํากับดูแล

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Employee

บุคลากรของ ทอท.

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Shareholders, Investors, and Securities Analysts

ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
community and society

ชุมชนและสังคม

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Mass Media and Online Media

สื่อมวลชน และสื่อออนไลน์อื่น ๆ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

ทอท. ดำเนินการกำกับดูแลองค์กรโดยอ้างอิงตามนโยบายธรรมาภิบาลของ ทอท. และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทอท. พ.ศ.2565 ซึ่งมีความสอดคล้องตามหลักการกํากับดูแลกิจการของ OECD (OECD Principles of Corporate Governance) หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้รับการยอมรับ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) รวมถึงหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2563 และแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

โครงสร้างคณะกรรมการ ทอท.

โครงสร้างคณะกรรมการ ทอท.

คณะกรรมการบริษัทเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารองค์กร โครงสร้างและทักษะของกรรมการที่เหมาะสมจะสนับสนุนการนำองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตัดสินใจทางธุรกิจโดยผ่านการพิจารณาจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองการดำเนินงานที่สำคัญอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ทอท. จึงให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้น 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการธรรมาภิบาล และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นหลัก

กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิของ ทอท. พิจารณาจากองค์ประกอบด้านทักษะที่หลากหลายและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น กลยุทธ์การบริหารและพัฒนาธุรกิจ บัญชีและการเงิน กฎหมาย ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นต้น รวมทั้งถือปฏิบัติตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 และวันที่ 6 สิงหาคม 2562 (เรื่อง แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ) และรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสากิจ ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 อย่างเคร่งครัด และสอดคล้องตามข้อบังคับของ ทอท. นโยบายธรรมาภิบาล และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518

คณะกรรมการ ทอท.

ข้อบังคับของ ทอท. กำหนดให้คณะกรรมการของ ทอท. ต้องมีลักษณะดังนี้

  • มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน เลือกตั้งโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  • มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน
  • กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
  • กรรมการอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านบัญชีและการเงิน

ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะเลือกตั้งกรรมการโดยใช้เสียงข้างมาก โดยผู้ถือหุ้นรายหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือในการเลือกตั้งกรรมการหนึ่งคน บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น และในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งตามวาระ 1 ใน 3 เป็นอัตรา กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้กรรมการจับสลากกันว่าผู้ใดจะออก ส่วนในปีที่สามและปีหลังต่อไป ให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง โดยกรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจถูกเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ก็ได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเนื้อหาฉบับเต็มได้ใน

หัวข้อ  คุณสมบัติของคณะกรรมการและการแต่งตั้งและพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ ใน รายงานประจำปี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

AOT Corporate Governance Overview 2023 (รออัพเดต)

การประชุมคณะกรรมการ

ทอท. จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเป็นประจํา ปีละไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง โดยต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๆ 3 เดือน โดยกําหนดวันประชุมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้คณะกรรมการสามารถเข้าร่วมประชุมได้อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้ส่วนงานของ ทอท. สามารถวางแผนการทํางานและจัดเตรียมข้อมูลรวมถึงระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาได้อย่างละเอียด ซึ่งประธานกรรมการจะแจ้งกําหนดการประชุมครั้งถัดไปให้ที่ประชุมทราบก่อนเลิกประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ ทอท. กําหนดให้กรรมการพ้นตําแหน่งหากมีการขาดการประชุมคณะกรรมการเกิน 3 ครั้ง ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม :
หัวข้อ การประชุมคณะกรรมการ ในรายงานประจําปี

ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ

ข้อกําหนดคุณสมบัติกรรมการอิสระของ ทอท. มีรายละเอียดที่เคร่งครัดกว่าข้อกําหนดขั้นต่ำของคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกรรมการอิสระ (Independent Director) ของ ทอท. ต้องมีคุณสมบัติ1 ดังนี้

  1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
  2. ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน รวมทั้งไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจํา หรือผู้มีอํานาจควบคุม ทอท. โดยต้องไม่มีผลประโยชน์หรือ ส่วนได้เสียในลักษณะดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
  3. ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจรวมทั้งไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งในด้านการเงิน และการบริหารงานของ ทอท.
  4. ไม่เป็นญาติสนิทหรือมีความสัมพันธ์อื่นที่อาจทําให้ขาดความเป็นอิสระกับกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น รายใหญ่ของ ทอท.
  5. กรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1 - 4 อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ทอท. ให้ตัดสินใจในการดําเนินกิจการของ ทอท. โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะได้ (Collective Decision)
  6. ไม่เป็นผู้สอบบัญชี หรือผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงินของ ทอท. โดยต้องไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียในลักษณะดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
  7. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของ ทอท. หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจํา หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น
  8. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทําให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดําเนินงานของ ทอท.

1 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของคุณสมบัติฉบับเต็มได้ใน หัวข้อ ข้อกําหนดคุณสมบัติกรรมการอิสระของ ทอท. ภายใต้หัวข้อ การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้อํานวยการใหญ่ ทอท. ในรายงานประจําปี

ทักษะความสามารถและความหลากหลายของคณะกรรมการ

กรรมการต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้ ทอท. รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ข้อบังคับ ทอท. และนโยบายธรรมาภิบาลของ ทอท. ทั้งนี้ ทอท. ไม่มีนโยบายในการกีดกันทางเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

AOT Median and mean annual compensation of All employees (รออัพเดต)

การประเมินผลคณะกรรมการและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่

การประเมินผลการดําเนินงานของคณะกรรมการ

ทอท. กําหนดให้คณะกรรมการ ทอท. ประเมินตนเองรายปี เพื่อเป็นกรอบในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในหน้าที่ของคณะกรรมการ และร่วมพิจารณาผลงานและปัญหาเพื่อปรับปรุงแก้ไขผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ การประเมินประกอบด้วย

  1. แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (รายบุคคล)
  2. แบบประเมินผลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
  3. การประเมินตนเองของคณะกรรมการชุดย่อย

นอกจากนี้ คณะกรรมการของ ทอท. ยังได้รับการประเมินจากภายนอกโดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง (สคร.) ซึ่งใช้เกณฑ์ประเมินผลการดําเนินงานรัฐวิสาหกิจในด้านการกํากับดูแลที่ดีและการนําองค์กร และการประเมินผ่านโครงการสํารวจการกํากับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินของโครงการ ASEAN CG Scorecard ในระดับสากล

การเรียกคืนค่าตอบแทน (Clawback Provision)

ทอท. ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จําเป็นต้องดําเนินงานตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/7 ที่ระบุว่า ในการดําเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น กรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารกระทําการหรือละเว้นกระทําการใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกําหนดดังกล่าวจนเป็นเหตุให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องได้ประโยชน์ไปโดยมิชอบ บริษัทอาจฟ้องเรียกให้มีการส่งคืนผลประโยชน์ดังกล่าวให้แก่บริษัทได้ (มาตรา 89/18 และมาตรา 89/19)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียง

ทอท. มีขอกําหนดในการถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียง ดังนี้

  • คณะกรรมการอิสระของ ทอท. มีสิทธิถือหุ้นได้ไม่เกิน 5 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดใน ทอท. บริษัทในเครือ บริษัทร่วมทุน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของ ทอท. ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย
  • กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ฐานะกรรมการบริษัทไม่สามารถถือหุ้นได้ตามข้อกําหนดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ ทอท. หัวข้อ การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในรายงานประจำปี

หมายเหตุ

  1. หุ้นของ ทอท. ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นผ่าน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นตราสารทุนประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Non-Voting Depository Receipt: NVDR) ยกเว้น กรณีการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อลงมติเกี่ยวกับการเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
  2. ทอท. ไม่มีหุ้นประเภท Golden share ที่ถือโดยองค์กรภาครัฐ

ทบทวน ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567