การกำกับดูแลกิจการของ ทอท.

ทอท. มุ่งบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและยกระดับการกำกับดูแลกิจการให้สอดคล้อง
ตามแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
อันจะส่งผลให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในระยะยาวบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี

icon ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
01 Customer

ลูกค้า

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Business Alliance

พันธมิตรทางธุรกิจ

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Regulatory agencies

หน่วยงานกํากับดูแล

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Employee

บุคลากรของ ทอท.

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Shareholders, Investors, and Securities Analysts

ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
community and society

ชุมชนและสังคม

ผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 7 กลุ่ม
Mass Media and Online Media

สื่อมวลชน และสื่อออนไลน์อื่น ๆ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

ทอท. ดำเนินการกำกับดูแลองค์กรโดยอ้างอิงตามนโยบายธรรมาภิบาลของ ทอท. และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทอท. พ.ศ.2565 ซึ่งมีความสอดคล้องตามหลักการกํากับดูแลกิจการของ OECD (OECD Principles of Corporate Governance) หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้รับการยอมรับ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) รวมถึงหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2563 และแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

โครงสร้างคณะกรรมการ ทอท.

โครงสร้างคณะกรรมการ ทอท.

คณะกรรมการบริษัทเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารองค์กร โครงสร้างและทักษะของกรรมการที่เหมาะสมจะสนับสนุนการนำองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตัดสินใจทางธุรกิจโดยผ่านการพิจารณาจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองการดำเนินงานที่สำคัญอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ทอท. จึงให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้น 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการธรรมาภิบาล และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยคณะกรรมการธรรมาภิบาลและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นหลัก

กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิของ ทอท. พิจารณาจากองค์ประกอบด้านทักษะที่หลากหลายและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น กลยุทธ์การบริหารและพัฒนาธุรกิจ บัญชีและการเงิน กฎหมาย ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นต้น รวมทั้งถือปฏิบัติตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 และวันที่ 6 สิงหาคม 2562 (เรื่อง แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ) และรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสากิจ ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 อย่างเคร่งครัด และสอดคล้องตามข้อบังคับของ ทอท. นโยบายธรรมาภิบาล และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518

คณะกรรมการ ทอท.

ข้อบังคับของ ทอท. กำหนดให้คณะกรรมการของ ทอท. ต้องมีลักษณะดังนี้

  • มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน เลือกตั้งโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  • มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน
  • กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
  • กรรมการอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านบัญชีและการเงิน

ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะเลือกตั้งกรรมการโดยใช้เสียงข้างมาก โดยผู้ถือหุ้นรายหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือในการเลือกตั้งกรรมการหนึ่งคน บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น และในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งตามวาระ 1 ใน 3 เป็นอัตรา กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้กรรมการจับสลากกันว่าผู้ใดจะออก ส่วนในปีที่สามและปีหลังต่อไป ให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง โดยกรรมการที่ออกตามวาระนั้นอาจถูกเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ก็ได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเนื้อหาฉบับเต็มได้ใน

หัวข้อ  คุณสมบัติของคณะกรรมการและการแต่งตั้งและพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ ใน รายงานประจำปี

การประชุมคณะกรรมการ

ทอท. จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเป็นประจํา ปีละไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง โดยต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก ๆ 3 เดือน โดยกําหนดวันประชุมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้คณะกรรมการสามารถเข้าร่วมประชุมได้อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อให้ส่วนงานของ ทอท. สามารถวางแผนการทํางานและจัดเตรียมข้อมูลรวมถึงระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาได้อย่างละเอียด ซึ่งประธานกรรมการจะแจ้งกําหนดการประชุมครั้งถัดไปให้ที่ประชุมทราบก่อนเลิกประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ ทอท. กําหนดให้กรรมการพ้นตําแหน่งหากมีการขาดการประชุมคณะกรรมการเกิน 3 ครั้ง ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม :
หัวข้อ การประชุมคณะกรรมการ ในรายงานประจําปี

ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ

ข้อกําหนดคุณสมบัติกรรมการอิสระของ ทอท. มีรายละเอียดที่เคร่งครัดกว่าข้อกําหนดขั้นต่ำของคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกรรมการอิสระ (Independent Director) ของ ทอท. ต้องมีคุณสมบัติ1 ดังนี้

  1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
  2. ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน รวมทั้งไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจํา หรือผู้มีอํานาจควบคุม ทอท. โดยต้องไม่มีผลประโยชน์หรือ ส่วนได้เสียในลักษณะดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
  3. ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจรวมทั้งไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสีย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งในด้านการเงิน และการบริหารงานของ ทอท.
  4. ไม่เป็นญาติสนิทหรือมีความสัมพันธ์อื่นที่อาจทําให้ขาดความเป็นอิสระกับกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น รายใหญ่ของ ทอท.
  5. กรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1 - 4 อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ทอท. ให้ตัดสินใจในการดําเนินกิจการของ ทอท. โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะได้ (Collective Decision)
  6. ไม่เป็นผู้สอบบัญชี หรือผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงินของ ทอท. โดยต้องไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียในลักษณะดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
  7. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของ ทอท. หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจํา หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น
  8. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทําให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดําเนินงานของ ทอท.

1 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของคุณสมบัติฉบับเต็มได้ใน หัวข้อ ข้อกําหนดคุณสมบัติกรรมการอิสระของ ทอท. ภายใต้หัวข้อ การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้อํานวยการใหญ่ ทอท. ในรายงานประจําปี

ทักษะความสามารถและความหลากหลายของคณะกรรมการ

กรรมการต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้ ทอท. รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ข้อบังคับ ทอท. และนโยบายธรรมาภิบาลของ ทอท. ทั้งนี้ ทอท. ไม่มีนโยบายในการกีดกันทางเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา

การประเมินผลคณะกรรมการและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่

การประเมินผลการดําเนินงานของคณะกรรมการ

ทอท. กําหนดให้คณะกรรมการ ทอท. ประเมินตนเองรายปี เพื่อเป็นกรอบในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในหน้าที่ของคณะกรรมการ และร่วมพิจารณาผลงานและปัญหาเพื่อปรับปรุงแก้ไขผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ การประเมินประกอบด้วย

  1. แบบประเมินตนเองของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (รายบุคคล)
  2. แบบประเมินผลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
  3. การประเมินตนเองของคณะกรรมการชุดย่อย

นอกจากนี้ คณะกรรมการของ ทอท. ยังได้รับการประเมินจากภายนอกโดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง (สคร.) ซึ่งใช้เกณฑ์ประเมินผลการดําเนินงานรัฐวิสาหกิจในด้านการกํากับดูแลที่ดีและการนําองค์กร และการประเมินผ่านโครงการสํารวจการกํากับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประเมินของโครงการ ASEAN CG Scorecard ในระดับสากล

การเรียกคืนค่าตอบแทน (Clawback Provision)

ทอท. ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จําเป็นต้องดําเนินงานตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/7 ที่ระบุว่า ในการดําเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น กรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารกระทําการหรือละเว้นกระทําการใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกําหนดดังกล่าวจนเป็นเหตุให้กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องได้ประโยชน์ไปโดยมิชอบ บริษัทอาจฟ้องเรียกให้มีการส่งคืนผลประโยชน์ดังกล่าวให้แก่บริษัทได้ (มาตรา 89/18 และมาตรา 89/19)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียง

ทอท. มีขอกําหนดในการถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียง ดังนี้

  • คณะกรรมการอิสระของ ทอท. มีสิทธิถือหุ้นได้ไม่เกิน 5 ของจํานวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดใน ทอท. บริษัทในเครือ บริษัทร่วมทุน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอํานาจควบคุมของ ทอท. ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย
  • กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ฐานะกรรมการบริษัทไม่สามารถถือหุ้นได้ตามข้อกําหนดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ ทอท. หัวข้อ การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในรายงานประจำปี

หมายเหตุ

  1. หุ้นของ ทอท. ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นผ่าน บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จํากัด ไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นตราสารทุนประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Non-Voting Depository Receipt: NVDR) ยกเว้น กรณีการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อลงมติเกี่ยวกับการเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
  2. ทอท. ไม่มีหุ้นประเภท Golden share ที่ถือโดยองค์กรภาครัฐ

ทบทวน ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567