อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

airsite

อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ของผู้ปฏิบัติงาน

การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงการปฏิบัติการของท่าอากาศยานล้วนอาศัยพนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ผู้รับเหมา และคู่ค้า ดังนั้น การบริหารจัดการอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรอันมีค่าขององค์กรเหล่านี้ หากปราศจากการดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานที่ดีแล้ว อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่การบาดเจ็บและสูญเสียบุคลากรที่เป็นพนักงานและผู้รับเหมา และยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการให้บริการลูกค้า เกิดผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงละเมิดข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิตและความปลอดภัยอีกด้วย

นโยบาย

ทอท. ดําเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการทํางานของผู้มีส่วนได้เสีย จึงกําหนดนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน คู่มือระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทํางานสําหรับผู้รับเหมา เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้กับพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนผู้รับเหมาของ ทอท. ทุกคน ซึ่งครอบคลุมทุกท่าอากาศยานและสํานักงานใหญ่

แนวทางการจัดการ

ทอท. ให้ความสําคัญกับสภาพแวดล้อมการทํางานที่ปลอดภัย ถูกหลักอาชีวอนามัย ปราศจากอันตรายและอุบัติเหตุในทั้ง 6 ท่าอากาศยานและสํานักงานใหญ่ โดยถือเป็นหลักพื้นฐานสําคัญของการดําเนินงานท่าอากาศยานซึ่งบุคลากรทุกคนที่ทํางานภายในพื้นที่รับผิดชอบของทอท. ต้องปฏิบัติตาม ปัจจุบันระบบการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของ ทอท. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 45001:2018 เรียบร้อยแล้วทั้งในส่วนของสํานักงานใหญ่และท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ซึ่งระบบการจัดการฯ ดังกล่าวจะทําให้การบริหารจัดการงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของ ทอท. มีความปลอดภัยและมีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานระดับสากล

หน้าที่ความรับผิดชอบ

ทอท. กำดให้ 6 ท่าอากาศยานและสำนักงานใหญ่ มีผู้รับผิดชอบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ดังนี้ 

คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ของ ทอท. ทําหน้าที่ 11 ประการตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2549 โครงสร้าง คปอ. ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการความปลอดภัย (นายจ้างแต่งตั้ง) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ทําหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการผู้แทน นายจ้างระดับบังคับบัญชา (นายจ้างแต่งตั้ง) และกรรมการผู้แทนลูกจ้างทุกระดับ (มาจากการเลือกตั้ง) จัดประชุมอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อรับทราบผลการดําเนินงานและชี้แนะมาตรการด้านอาชีวอนามัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง

Standard Operation Procedure

ทอท. ได้กำหนด Standard Operation Procedure เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอย่างมีระบบ และกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานฯ จัดการประชุมกับฝ่ายบุคคลและจัดการประชุมกับคณะกรรมการเพื่อรายงานสถานการณ์ดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ 

Standard Operation Procedure ของ ทอท. ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ 

  1.  การบ่งชี้อันตราย และประเมินความเสี่ยง
  2.  การจัดการอันตรายจากปัจจัยเชิงจิตวิทยาและปัจจัยทางสังคมในการทำงาน
  3.  การจัดการความสอดคล้องของกฎหมายและข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย
  4.  การกำหนดวัตถุประสงค์ และแผนบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย
  5.  การกำหนดความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก
  6.  การสื่อสาร การมีสาวนร่วม และการให้คำปรึกษา
  7.  การควบคุมเอกสาร และบันทึก
  8.  การควบคุมการปฏิบัติ
  9.  การจัดการความเปลี่ยนแปลง
  10.  การควบคุมการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้รับจ้าง
  11.  การเตรียมความพร้อม และตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
  12.  การตรวจสอบการปฏิบัติด้านความปลอดภัย
  13.  การติดตาม ตรวจสอบ และวัดผลการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความ ปลอดภัย
  14. การตรวจประเมินระบบการจัดการ
  15. การทบทวนระบบการจัดการโดยฝ่ายบริหาร
  16. การสอบสวนอุบัติเหตุ และอุบัติการณ์
  17. การแก้ไข และป้องกัน

ภาพรวมของการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน 

ความมุ่งมั่นและนโยบาย

การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง

ภายใต้มาตรฐาน มอก.18001:2554 ในส่วนของการวางแผน ทอท. มีกระบวนการชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยงในกิจกรรมและสภาพแวดล้อมการทํางาน พร้อมดําเนินการทบทวนเป็นประจําอย่างน้อยปีละครั้งหรือมากกว่า รับผิดชอบโดยผู้รับผิดชอบของแต่ละส่วนงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ พร้อมรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คปอ. และผู้บริหารระดับสูง ผลลัพธ์จากการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยงถูกใช้ในการกําหนดมาตรการจัดการ ซึ่ง ทอท. มีการคํานึงถึงลําดับขั้นในการควบคุมความเสี่ยง (Hierarchy of Controls) ดังนี้

การคำนึงถึงลำดับขั้นในการควบคุมความเสี่ยง

ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานพบเห็นสภาพแวดล้อมการทํางานที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานความเสี่ยงและข้อกังวลที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อต่อ คปอ. เพื่อดําเนินการประเมินและติดตามแก้ไข โดยถือว่าการรายงานเกี่ยวกับอุบัติการณ์อันตรายความเสี่ยงและโอกาสเป็นการรายงานเพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 

การสอบสวนอุบัติการณ์

กรณีที่มีอุบัติการณ์เกิดขึ้น ทอท. มีกระบวนการในการสอบสวนอุบัติการณ์ดังนี้

การสอบสวนอุบัติการณ์

การตรวจประเมินสภาพแวดล้อมการทํางาน

ตรวจประเมินสภาพแวดล้อม

ทอท. กําหนดการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมในการทํางานของพนักงานและลูกจ้างเป็นประจํา ซึ่งรับผิดชอบโดยหน่วยงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละท่าอากาศยานในการตรวจติดตามสภาพแวดล้อมในการทํางานให้มีความสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมการทํางานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง เสียง ฝุ่นละออง และเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ เป็นต้น

การบริการทางการแพทย์

ทอท. มีคลินิกสํานักแพทย์ประจําทุกท่าอากาศยาน รวมถึงสํานักงานใหญ่ เพื่อตรวจรักษาเบื้องต้นให้แก่พนักงานและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของ ทอท. กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน และ ทอท. กําหนดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานประจําปีและมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงานเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของ ทอท. ทุกคนมีสุขภาพและการดูแลตัวเองที่ดี

การอบรมสําหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงเฉพาะสูง

ตามข้อกําหนดของ ทอท. ผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงเฉพาะจําเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมและ / หรือมีใบอนุญาตในการทํางาน อาทิ การใช้ปั้นจั่น รถยก (Forklift) การทํางานบนที่สูง การทํางานในพื้นที่หวงห้ามหรือมีเชื้อเพลิง การทํางานในที่อับอากาศ การทํางานที่ต้องใช้สารเคมี อันตราย การทํางานเกี่ยวกับรังสี หรือการทํางานที่เกิดความร้อนและประกายไฟ เช่น การตัดเชื่อมเจียร เป็นต้น

ความปลอดภัยของผู้รับเหมา

ฝ่ายความปลอดภัยในการทํางานและอาชีวอนามัยของ ทอท. จัดทําและเผยแพร่ข้อบังคับและคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยในการทํางานสําหรับผู้รับเหมา เพื่อใช้เป็นแนวทางการดําเนินงานด้านความปลอดภัยในการทํางานที่ถูกต้องและสอดคล้องตามกฎหมายกําหนด รวมทั้งยังเป็นการควบคุมความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ของ ทอท. และเป็นการผลักดันผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคนรวมถึงผู้รับเหมาภายนอก ทั้งนี้ ทอท. กําหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาที่สอดคล้องตามข้อกําหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้าไว้อย่างชัดเจนในข้อกําหนดรายละเอียดงานจ้าง (Term of Reference: TOR) และทําการสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานถึงข้อควรปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยก่อนเริ่มดําเนินงานทุกครั้ง ปัจจุบัน ทอท. กําหนดให้ผู้รับเหมาจําเป็นต้องรายงานสถิติและผลการดําเนินงานด้านความปลอดภัยเป็นประจำทุกเดือนผ่านระบบสารสนเทศในการจัดการข้อมูลด้านความปลอดภัยสําหรับผู้รับเหมา โดยมีแนวปฏิบัติซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ความปลอดภัยของผู้รับเหมา

การส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ทอท. ส่งเสริมความปลอดภัยและสนับสนุนวัฒนธรรมทางด้านความปลอดภัยในองค์กร โดยจัดให้มีการฝึกอบรมและโครงการรณรงค์ เช่น กิจกรรมการตรวจความปลอดภัย ที่จะส่งเสริมให้มีการตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานของแต่ละส่วนงานเป็นประจำทุกเดือน กิจกรรมการพูดคุยเรื่องความปลอดภัยในส่วนงาน (Safety talk) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้พนักงานในส่วนงานมีการนำหัวข้อเกี่ยวกับความปลอดภัยรอบๆ โครงการ Safety Day ที่สร้างความตระหนักและให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีการสื่อสารข้อมูลด้านความปลอดภัยในแต่ละซุ้มกิจกรรมพร้อมมีของรางวัลให้แก่พนักงานและบุคคลที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น เพื่อให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่พนักงานใหม่และพนักงานปัจจุบันด้านมาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้นตามที่กฎหมายและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กําหนด เช่น ความปลอดภัยพื้นฐานในท่าอากาศยานและแผนฉุกเฉิน การซ้อมหนีไฟรวมไปถึงการฝึกอบรมด้านระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนอกเหนือจากที่กฎหมายกําหนด อาทิ การอบรมเพื่อดําเนินงานตามมาตรฐานระดับสากล ISO 45001:2018 และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมงานเพื่อกํากับดูแลผู้รับเหมา เป็นต้น

ซ้อมดับเพลิงขั้นต้น 2566

โครงการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ

การฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟเป็นกิจกรรมด้านความปลอดภัยภาคบังคับที่ ทอท. จัดขึ้นเป็นประจําทุกปีในทุกท่าอากาศยานและสํานักงานใหญ่ ตามกฎกระทรวงกําหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2555 เพื่อให้พนักงานทุกคนรับทราบแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และเพิ่มความชํานาญในการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่และผู้รับผิดชอบส่วนต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

โครงการป้องกันอุบัติเหตุ

โครงการป้องกันอุบัติเหตุจากการดำเนินงานของพนักงาน

ทอท. มีการจัดโครงการส่งเสริมป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่น โครงการ Safety Day เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีการสื่อสารข้อมูลด้านความปลอดภัยในแต่ละซุ้มกิจกรรมพร้อมมีของรางวัลให้แก่พนักงานและบุคคลที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม

อพยพหนีไฟ 2566

การฝึกซ้อมแผนอพยพหนีไฟ ประจำปี 2566

ทอท. มีการจัดให้พนักงานเข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนอพยพหนีไฟ ประจำปี 2566 ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555

การประเมินผลการจัดการ

ทอท. จัดให้มีกระบวนการในประเมินผลการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ผ่านการตรวจประเมินภายใน (Internal Audit) โดยฝ่ายความปลอดภัยในการทํางานและอาชีวอนามัย สายงานมาตรฐานอากาศยานและการบิน และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน ส่วนการตรวจประเมินภายนอก (External Audit) ตามมาตรฐาน ISO 45001: 2018 โดยหน่วยงานอิสระ ทั้งนี้ ทอท. รายงานสถิติความปลอดภัยและผลการตรวจรับรองมาตรฐานการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นประจําให้แก่ผู้บริหารระดับสูงเพื่อทบทวนและกําหนดมาตรการสําหรับพัฒนาการดําเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานต่อไป รวมถึงได้เปิดเผยผลการดําเนินงานต่อสาธารณะในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประจําทุกปี

สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของพนักงานและลูกจ้าง

ทอท. มีการจัดทำและรวบรวมสถิติด้านความปลอดภัยในการทำงาน ได้แก่ อัตราความถี่ในการเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นหยุดงาน (LTIFR) และ อัตราความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ (LTISR) ตามที่สถาบันมาตรฐานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (ANSI) ได้กำหนดแนวทางการคำนวณสถิติด้านความปลอดภัยในการทำงานไว้ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดแผนงานลดความเสี่ยงและมาตรการป้องกัน โดยสถิติต่างๆที่ได้มีการรวบรวมจะถูกตรวจสอบโดย Certification Bodyตามมาตรฐาน ISO 45001 : 2018 ก่อนให้การรับรองมาตรฐานต่อไป

  • อัตราความถี่ในการเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นหยุดงาน (LTIFR) = (จ.น.คนที่บาดเจ็บจนถึงขั้นหยุดงาน X 1,000,000) / จ.น.ชม.การทำงานทั้งหมด 
  • อัตราความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ (LTISR) = (จ.น.วันที่หยุดงานจากอุบัติเหตุ X 1,000,000) / จ.น.ชม.การทำงานทั้งหมด 

ทบทวน ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567