ทอท.จัดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2016 ภายใต้แนวคิด Collaboration towards Successful Future
ทอท.จัดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2016 ภายใต้แนวคิด Collaboration towards Successful Future
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จัดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2016 ระหว่างวันที่ 6 – 8 กรกฎาคม 2559 ภายใต้แนวคิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความสำเร็จในอนาคต (Collaboration towards Successful Future) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ ทอท.กับท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก และท่าอากาศยานใน ASEAN+6 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ และมีการบรรยายพิเศษ โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา Mr.Arun Mishra, Regional Director of ICAO (International Civil Aviation Organization) Asia and Pacific Office และดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมการบินเป็นธุรกิจที่มีบทบาทอย่างยิ่งในยุคแห่งการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ของโลกในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจนี้ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านบริการที่ต้องคำนึงถึงการตอบสนองความคาดหวังด้านบริการที่หลากหลายควบคู่ไปกับเงื่อนไขเชิงคุณภาพที่มุ่งเน้นการบริการที่สูงกว่ามาตรฐาน อีกทั้งปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการบินและการบริการทำให้องค์กรท่าอากาศยาน สายการบิน และหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมการบินจำเป็นต้องร่วมมือกันและสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางประเด็นท้าทายและแนวโน้มอุตสาหกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากการคาดการณ์ใน 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมท่าอากาศยานทั่วโลกจะมีการเติบโตของรายได้ประมาณ 157.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรูปแบบรายได้ของธุรกิจท่าอากาศยานจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่รายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินมากขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่รองรับธุรกิจที่เสริมสร้างความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นเมืองใหม่เกิดขึ้นมา มีร้านค้า ภัตตาคาร กิจกรรมสันทนาการและที่พัก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โครงข่ายท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.มีการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 14 โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ทอท.ได้ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมทั้งสิ้นกว่า 110 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่งมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 83.5 ล้านคน ดังนั้น ขณะนี้ ทอท.มีแผนลงทุนสำหรับพัฒนาท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.ระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้าในวงเงินประมาณ 1.94 แสนล้านบาท และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 181 ล้านคนต่อปี โดยปัจจุบันนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปีภายในปี 2562 ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารสูงกว่า ร้อยละ 40 และจำนวนเที่ยวบินกว่าร้อยละ 30 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นท่าอากาศยานที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำอันดับ 1 ของโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 30 ล้านคน เป็น40 ล้านคนต่อปี สำหรับท่าอากาศยานในภูมิภาคก็อยู่ระหว่างการพัฒนาและขยายขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2578 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศจะมีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 120 ล้านคนต่อปี และจำนวนเที่ยวบินเกือบ 600,000 เที่ยวบินต่อปี นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในบางภูมิภาค จากเดิมประเทศพัฒนาแล้วมีความนิยมเดินทางระยะไกล (Long-haul route) และเดินทางด้วยสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service airline) เปลี่ยนเป็นประเทศเกิดใหม่ที่นิยมเดินทางระยะใกล้และเดินทางด้วยอากาศยานขนาดเล็กในเส้นทางบินแบบจุดต่อจุด (Point to Point) ดังนั้น ท่าอากาศยานต่างๆ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาร่วมมือกัน ระหว่างท่าอากาศยานแทนการบริหารงานแบบระบบท่าอากาศยานเดียว (Single Airport Model)
การจัดประชุมอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2016 ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความสำเร็จในอนาคต (Collaboration towards Successful Future) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเนื่องจากเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานชั้นนำต่าง ๆ ได้มาเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ท่าอากาศยานมิวนิค ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ และท่าอากาศยานโอซาก้า ซึ่งล้วนแต่เป็นท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จด้านคุณภาพการบริการ และการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยมีหัวข้อต่างๆ ที่จะมีการอภิปรายภายในงาน เช่น หัวข้อความท้าทายในปัจจุบันและแนวโน้มของธุรกิจ ท่าอากาศยานในอนาคต (The Current Challenges and Future Trends in Airport Business) คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ภัยคุกคามจากการก่อการร้าย (Terrorism) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technology) โลกาภิวัตน์ (Globalization) การเติบโตของประเทศในซีกโลกตะวันออก (Power Shift Eastwards) การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment)
การเพิ่มโอกาสของผู้โดยสารในการสัมผัสประสบการณ์การให้บริการอย่างดีเยี่ยมของท่าอากาศยาน (Enhancing Passenger Experience for Airport Service Excellence) แนวโน้มธุรกิจท่าอากาศยานในอนาคตซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ของท่าอากาศยาน (Future Trends for Generating Airport Revenues)