การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ

การดำเนินงานภายในท่าอากาศยาน การพัฒนา และขยายโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จำเป็นต้องมีดูแลผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นกิจลักษณะเพื่อการควบคุมผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ให้ความสนใจ และมีความคาดหวังต่อการบริหารงานของ ทอท. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ทอท. ให้ความสำคัญสามารถแบ่งตามประเด็นสำคัญที่มีความเฉพาะเจาะจงทางด้านการจัดการเสียง คุณภาพอากาศ น้ำและน้ำเสีย ของเสีย และความหลากหลายทางชีวภาพ ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบในวงกว้างได้หลายรูปแบบ โดย ทอท. ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ตามมาตรการและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเพิ่มคุณค่าและตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และความสอดคล้องตามเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนองค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

นโยบายและแนวทางการจัดการ

นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมในท่าอากาศยาน

นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม

ทอท. มุ่งมั่นบริหารจัดการท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบตามแนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “Moving toward International Leading Eco-Airport” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2566 ทอท. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ทอท. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของคณะทำงานทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายอย่างใกล้ชิด อีกทั้ง การดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. เป็นไปตามแผนวิสาหกิจของ ทอท. ปีงบประมาณ 2566 – 2570 ฉบับทบทวน (ประจำปีงบประมาณ 2566) การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ Airport Strategic Positioning และนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมในท่าอากาศยาน เพื่อให้การจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นไปตามข้อกําหนดของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นโยบายการบริหารจัดการการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ทอท.

ทอท. ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ทอท. (Green ICT Management Policy) เพื่อสร้างกระบวนการบริหารจัดการการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางการปฏิบัติงานที่ครบถ้วนและเป็นระบบ ประกอบด้วย ลดการใช้พลังงาน และการจัดการทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างคุ้มค่า และไม่ส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการ โดยให้ความสำคัญกับ 4 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

  1. วัฏจักรของอุปกรณ์ (Equipment Lifecycle)
  2. การใช้ ICT ของผู้ใช้งาน (End User Computing)
  3. ระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในองค์กร (Enterprise Computing)
  4. การนำ ICT มาใช้ในการลดการปล่อยคาร์บอน (ICT as a Low - Carbon Enabler)
แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม

แนวทางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อท่าอากาศยาน

ปัจจุบัน ทอท. ดําเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 5 ด้าน คือ

  1. การจัดการด้านเสียง (Noise)
  2. การจัดการด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality)
  3. การจัดการน้ำและน้ำเสีย (Water and Wastewater)
  4. การจัดการของเสีย (Waste)
  5. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

1

การจัดการด้านเสียง

(Noise Management)

ทอท.ได้นําหลักการวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงอย่างสมดุล (Noise Balanced Approaches) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) มาปรับใช้ในการดําเนินงานท่าอากาศยาน โดยหลักการของ Balanced Approaches มีดังนี้

  • การลดเสียงที่อากาศยาน (Reduction of noise at source) : สนับสนุนรณรงค์ให้สายการบินใช้อากาศยาน ที่มีการออกแบบ หรือเลือกใช้เครื่องยนต์ที่ปลดปล่อยเสียงในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบัน และกําหนดน้ำหนักบรรทุกของอากาศยานให้เหมาะสม
  • การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land-use Planning and Management) : สนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนพัฒนาท่าอากาศยาน พื้นที่ผลกระทบด้านเสียงให้หน่วยงานด้านการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนำไปพิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม
  • วิธีปฏิบัติการบินที่ลดเสียง (Noise abatement operational procedures) : กำหนดให้สายการบินที่ใช้ท่าอากาศยานปฏิบัติตามวิธีการบินและการขึ้น-ลง ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงต่ำที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อปัจจัยด้านความปลอดภัย (Safety) รวมทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสามารถรองรับเที่ยวบิน (Capacity) การกำหนดสัดส่วนการใช้ทางวิ่ง (Preferential runway use) ประสิทธิภาพของการบริหารการจราจร (Efficiency) และการเข้าถึงของท่าอากาศยาน (Accessibility)
  • ข้อจำกัดในการปฏิบัติการ (Operating restrictions) : จำกัดอากาศยานเสียงดัง โดยกำหนดให้อากาศยานที่ทำการบินในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ต้องมีระดับเสียงไม่เกินที่กำหนดไว้ใน Chapter 3 ของ Annex 16 ของอนุสัญญาว่าด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (อนุสัญญาชิคาโก) ซึ่งประกาศใน Aeronautical Information Circular: AIC เพื่อให้สายการบินต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติ

นอกจากนี้เพื่อเป็นการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบด้านเสียงจากอากาศยาน ทอท. ได้มีการตรวจวัดระดับเสียงอากาศยาน ทั้งที่เป็นสถานีถาวร และสถานีชั่วคราว ดังนี้

สถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร จำนวน 19 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี โดยเตรียมติดตั้งสถานีถาวรเพิ่มอีก 6 สถานี ในช่วงก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และมีแผนติดตั้งสถานีถาวรเพิ่มอีก 5 สถานี ในช่วงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4
  • ท่าอากาศยานภูเก็ต มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวรจำนวน 4 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีสถานีตรวจวัดระดับเสียงถาวร จำนวน 4 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี
  • ท่าอากาศยานดอนเมืองเตรียมติดตั้งสถานีวัดเสียงถาวร 14 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานีในช่วงก่อสร้างโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3
  • ท่าอากาศยานดอนเมืองเตรียมติดตั้งสถานีเสียงถาวร 14 สถานี และสถานีเคลื่อนที่ 2 สถานี ในช่วงก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3

สถานีตรวจวัดระดับเสียงชั่วคราว

  • ท่าอากาศยานดอนเมือง
  • ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

ดำเนินการตรวจวัดระดับเสียงปีละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่อง

การจัดการด้านคุณภาพอากาศ

(Air Quality Management)

ทอท. ได้มีมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบด้านคุณภาพอากาศมาโดยตลอด ครอบคลุมแหล่งกําเนิดมลพิษจากภาคพื้นและอากาศยาน และมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบ PM2.5 โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศของ ทอท. ที่สําคัญได้แก่

2

  • กําหนดให้อากาศยานดับเครื่องยนต์และควบคุมการใช้ Auxiliary Power Unit: APU ขณะเข้าหลุมจอดหรือเทียบกับ Passenger Loading Bridge โดยให้ใช้อุปกรณ์จ่ายไฟฟ้า และระบบปรับอากาศที่สนับสนุนโดยผ่านระบบสาธารณูปโภคของท่าอากาศยาน
  • จัดระเบียบการจราจรภายในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะบริเวณอาคารผู้โดยสารและลานจอดรถยนต์ไม่ให้เกิดการติดขัด เพื่อลดการระบายมลสารทางอากาศ
  • กำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพยานพาหนะและอุปกรณ์ Ground Support Equipment: GSE ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ให้มีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • ส่งเสริมให้มีการใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า
  • รณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้พลังงานและมลพิษจากรถยนต์
  • สำหรับท่าอากาศยานที่พื้นที่โดยรอบมีปัญหาการเผาป่าและวัสดุทางการเกษตร ให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อลดการเผาป่า

ทอท. ได้มีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ (Air Quality Monitoring) เพื่อติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ ให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในและภายนอกท่าอากาศยาน ดังนี้

  • สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีชั่วคราว) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยาน
    ดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดําเนินการ ตรวจวัดปีละ 2 ครั้งต่อเนื่อง 7 วันดัชนีที่ตรวจวัด ได้แก่o Nitrogen oxide (NOx)

    • Carbon monoxide (CO)
    • Total Hydrocarbons (THC)
    • Total suspended particles (TSP)
    • Particulate matter 10 micrometers (PM10)
    • Volatile organic compounds (VOCs)
    • ทิศทางและความเร็วลม

ซึ่งผลการตรวจวัดพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตามที่กฎหมายกําหนด เพื่อเป็นการเฝ้าระวังระดับมลสารทางอากาศที่อาจจะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีถาวร) จำนวน 2 สถานี
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง เตรียมติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป (สถานีถาวร) จำนวน 2 สถานี ในช่วงก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3

3

การจัดการน้ำและน้ำเสีย

(Water and Wastewater Management)

ทอท. บริหารจัดการน้ำและน้ำเสียเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการการอุปโภคบริโภคในการดำเนินงาน รวมถึงป้องกันและควบคุมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยรอบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ ทอท. ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำผิวดิน อุทกวิทยา และการระบายน้ำออกสู่ชุมชน ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดําเนินงานท่าอากาศยานตามหลักวิชาการ ตลอดจนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ปัจจุบันแหล่งน้ำหลักที่ ทอท. ใช้ภายในท่าอากาศยานมาจากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และจากระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำของท่าอากาศยานซึ่งอาศัยแหล่งน้ำดิบจากน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน โดยแต่ละท่าอากาศยานมีกระบวนการควบคุมคุณภาพน้ำที่ผลิตเองให้ได้มาตรฐานน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กําหนดและมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายในอาคารผู้โดยสารให้ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นประจําทุกเดือน

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. มีระบบบําบัดน้ำเสียส่วนกลาง ซึ่งสามารถ รองรับปริมาณน้ำเสียทุกวันได้อย่างเพียงพอ มีการควบคุมและตรวจสอบการทํางานของระบบบําบัดน้ำเสียให้ทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย สําหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต น้ำทิ้งที่ผ่านระบบบําบัดน้ำเสียส่วนกลางแล้วจะมีการบําบัดน้ำเพิ่มเติมเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของ ทอท. มีการจัดการน้ำโดยบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับสากล ISO 14001:2015 ด้านการบริหารจัดการระบบจ่ายน้ำประปา ระบบระบายน้ำท่าอากาศยาน ระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบการบําบัดน้ำเสีย

ทั้งนี้ ทอท. อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลกรณีฐานเพื่อตั้งเป้าหมายการใช้น้ำ โดยเป้าหมายดังกล่าวคํานึงถึงสถานการณ์การใช้น้ำในปัจจุบันของ ทอท. ควบคู่ไปกับบริบทด้านการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ของท่าอากาศยาน รวมถึงมาตรการการจัดการน้ำในท้องถิ่นของภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การจัดการของเสีย

(Waste Management)

4

ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติ ทั้งในแง่การขาดแคลนพื้นที่ในการกําจัด การเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบ และการปนเปื้อนของขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสู่ระบบนิเวศ ทอท. มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ดําเนินการบริหารจัดการมาโดยตลอด

การกำจัดของเสีย

เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นสถานที่ที่ผู้โดยสารจํานวนมาก มีกิจกรรมการอุปโภคบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะ และเป็นที่รองรับขยะที่มากับอากาศยาน ทอท. จึงจัดให้มีระบบบริหารจัดการขยะโดยเริ่มต้นตั้งแต่การรณรงค์ให้ผู้โดยสารและพนักงานลดอัตราการเกิดขยะ และให้มีการคัดแยกขยะโดยภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารสํานักงานจะมีภาชนะตามประเภทของขยะมูลฝอย เช่น ขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล สําหรับขยะอันตราย และขยะติดเชื้อจะแยกจัดเก็บไว้โดยเฉพาะไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น จากนั้นจะรวบรวมไปกําจัดให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสุขาภิบาลต่อไป ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมจุดพักขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลตามประเภทของขยะมูลฝอย เช่น ขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นหรือเอกชนรับขนถ่ายขยะมูลฝอยไปกำจัด พร้อมดูแลความสะอาดของพื้นที่และเส้นทางที่รถขนขยะผ่านให้เรียบร้อยภายหลังการจัดเก็บในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การดำเนินงานของท่าอากาศยานยังมีขยะอันตรายจากการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมัน สารทําละลาย หลอดไฟ และขยะติดเชื้อจากคลินิกแพทย์ภายในท่าอากาศยาน ซึ่งขยะประเภทดังกล่าวจะถูกนําไปกําจัดโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Resource Efficiency and Circularity)

ทอท. ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ ทอท. เพื่อสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญต่อการจัดซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อลดการกำเนิดขยะตั้งแต่ต้นทาง นโยบายดังกล่าวยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน ทอท. จากระบบแอนะล็อกที่พึ่งพาทรัพยากรจำนวนมากโดยเปลี่ยนการใช้กระดาษมาเป็นระบบดิจิทัลที่ช่วยลดการเกิดของเสียได้มากขึ้น เช่น ระบบ e-Document และยังสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน เช่น Virtualization Server และ Cloud Computing นอกจากนี้ ทอท. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการปฏิบัติงานการบริการจัดการการคัดเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green ICT Management Guideline) ให้แก่พนักงาน เพื่อการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแนวทางดังกล่าวประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

  1. วัฏจักรของอุปกรณ์ (Equipment Lifecycle)
  2. การใช้ ICT ของผู้ใช้งาน (End User Computing)
  3. ระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในองค์กร (Enterprise Computing)
  4. การนำ ICT มาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ICT as a Low – Carbon Enabler)

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

ทอท. มุ่งมั่นรักษาความหลากหลายทางงชีวภาพทั้งภายในและภายนอกการบริหารงานท่าอากาศยาน โดยการสร้างความตรระหนักในเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพตลอดทางระบบห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและแผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของ ทอท. โดยมีการกำหนดกรอบการดำเนินงาน ดังนี้

  • ทอท. ประเมินและตรวจวัดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)
    และด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Risk Assessment) สำหรับพื้นที่ทั้ง 6 ท่าอากาศยาน
    เพื่อการรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) เพื่อระบุสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบ
    ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จากการดำเนินธุรกิจใน 6 ท่าอากาศยาน หลังจากนั้น ทอท. กำหนดแผนงาน
    เพื่อลดและหลีกเลี่ยงความรุนแรงของผลกระทบ (Reduction & Avoidance)
  • ทอท. ได้กําหนดให้มีมาตรการดำเนินการในการป้องกันอันตรายจากนกในท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการสูญเสียของสิ่งมีชีวิต เช่น การจัดการแหล่งอาหารที่พักอาศัยและสิ่งดึงดูดนก นอกจากนั้น ทอท. มีมาตรการในการขับไล่นกให้ออกจากพื้นที่ท่าอากาศยานเพื่อไม่ให้นกเกิดความคุ้นเคยกับพื้นที่ด้วยวิธีการที่เหมาะสม และได้รับการพัฒนาขึ้นภายในองค์กรสอดคล้องตามข้อแนะนําใน เช่น ขับไล่ด้วยเสียง การใช้รูปสัตว์นักล่า ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานของ ทอท. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยาและยังได้จัดจ้างที่ปรึกษาสำหรับการวิจัยและการประเมินผลการป้องกันอุบัติเหตุทางการบินเนื่องจากนกและสัตว์ ทั้งนี้ ทอท. ได้กำหนดแนวทางการป้องกันอันตรายจากนกและสัตว์ที่เข้ามาในเขตท่าอากาศยาน ดังนี้:
    • ตรวจประเมินสภาพแวดล้อมและจัดการกับปัจจัยที่ดึงดูดให้นกและสัตว์เข้ามาหากินและอาศัย เช่น รางระบายน้ำ คูน้ำ พื้นที่สนามหญ้าสภาพพื้นดิน แนวรั้วเขตการบินเพื่อป้องกันสัตว์เล็ดลอด จุดเกาะพักของนก จุดพักขยะ เป็นต้น
    • การควบคุมและขับไล่สัตว์อันตรายอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทำการแจ้งเตือนอันตรายจากสัตว์
    • ประเมินและจัดระดับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากนกหรือสัตว์ในสนามบิน จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในรัศมี 13 กิโลเมตรรอบสนามบิน เช่น บ่อเลี้ยงปลา เกษตรกรรม เป็นต้น
    • ทบทวนและปรับปรุงมาตรการป้องกันอันตรายจากสัตว์ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศและให้เป็นปัจจุบัน
    • กำหนดกระบวนการดำเนินการและรายงานเมื่อเกิดกรณีอากาศยานชนสัตว์
  • ทอท. ได้ดำเนินกิจกรรมการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ซึ่งกิจกรรมการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าชายเลนของ ทอท. สามารถตอบสนองต่อประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างรอบด้านต่อสิ่งมีชีวิต เช่น การเป็นพื้นที่อนุบาลสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ปีก เป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ทั้งบกและน้ำ ช่วยบรรเทาและป้องกันความรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตเนื่องจากภัยบิตัจากธรรมชาติ รวมถึงสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนผ่านพืชพันธุ์ในเขตป่าชายเลน เป็นต้น เพื่อฟื้นฟูและคืนความหลากหลายทางชีวภาพ (Restoration & Regeneration) สู่ธรรมชาติและสังคม และผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นต่อสังคม อาทิ เรื่องรายได้ของคนภายในชุมชนรอบ ๆ ป่าชายเลน

กิจกรรม

โครงการการให้บริการและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า 400 Hz และระบบปรับอากาศ

PC air
4-1-3-2
4-1-1-2-800x533

ทอท. เปิดใช้ระบบไฟฟ้า 400 Hz และระบบปรับอากาศชนิดติดตั้งอยู่กับที่ (Precondition Air : PC AIR) แก่กับอากาศยานที่มาใช้บริการท่าอากาศยาน
ทอท.ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง จึงจัดให้มีระบบไฟฟ้า 400 Hz และระบบปรับอากาศชนิดติดตั้งอยู่กับที่ (Precondition Air : PC AIR ) พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าสำรอง (Uninterrupted Power System : UPS) สำหรับให้บริการกับอากาศยานที่มาใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท.
ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจะช่วยประหยัดพลังงานและลดมลภาวะในเขตการบิน สอดคล้องกับนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ กำหนดให้รัฐภาคีของ ICAO ต้องควบคุมมลพิษ ทางอากาศและเสียงไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้โดยสารและผู้ปฏิบัติงาน ในเขตท่าอากาศยาน และนโยบายของ ทอท. คือการมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport)

แชร์ข้อมูลผ่าน Onedrive ลดการใช้กระดาษ

ทอท.นำระบบ One drive มาใช้ในการทำงานประจำ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการประหยัดทรัพยากรในการทำงาน
ทอท.สนับสนุนให้พนักงานทุกมีส่วนร่วมในการประหยัดทรัพยากรในการทำงาน โดยได้นำระบบ One drive มาใช้ในการทำงานประจำ ซี่งพนักงานทุกคนจะได้รับความจุในระบบคนละ 1 TB ใช้ประโยชน์ในการแบ่งปันไฟล์ สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง หากคนในส่วนงานมีการแชร์ไฟล์ให้กัน ทุกคนสามารถเห็นไฟล์ได้ โดยสามารถเลือกให้ไฟล์อ่านได้อย่างเดียว หรือแก้ไขเอกสารได้ จึงสามารถใช้เพื่อการติดตาม รายงานความก้าวหน้า ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ลดการพิมพ์เอกสารในการตรวจสอบ หรือ แจ้งข้อมูลให้ทราบทั่วกัน นอกจากนี้ยังพิมพ์เอกสารเท่าที่จำเป็น สนับสนุนการใช้กระดาษจากการรีไซเคิลให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในการพิมพ์เอกสารทุกคนจะต้องส่งเอกสารให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบเนื้อหาทุกครั้งผ่านระบบ One drive ก่อนพิมพ์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่ต้องสิ้นเปลืองการพิมพ์ใหม่ซ้ำ ๆ

ช่องทางรับข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะ

ทอท. จัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมประเด็นด้านเสียงและผลกระทบด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน และจัดตั้งศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีภารกิจหลัก 2 ส่วน ดังนี้

งานมวลชนสัมพันธ์

ลงพื้นที่เพื่อพบปะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาผลกระทบของ ทอท. ตลอดจนติดตามสถานการณ์ภายในชุมชนและพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยาน เพื่อรายงานประเด็นความคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนของประชาชนแก่ ทอท.

รับข้อร้องเรียนทางโทรศัพท์ (Call Center)

รับเรื่องร้องทุกข์และตอบข้อซักถามด้านขั้นตอนการในการดำเนินงานชดเชยผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แผนงานขั้นตอนและผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาและให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีมีการสอบถามข้อมูลเชิงลึกของ ทอท. ศูนย์ประสานงานฯ จะเป็นผู้ประสานงานด้านข้อมูลเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับผู้สอบถาม

ทบทวนล่าสุด ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2567